Value Creation หัวใจหลักสินค้าและบริการในยุคอนาคต

Value Creation หัวใจหลักของสินค้าและบริการในยุคอนาคต


ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ และต่างประเทศถือว่ารุนแรงอย่างมาก ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีขนาดธุรกิจตั้งแต่ขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME จะต้องสร้างความแตกต่างและหาจุดเด่นให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้แข่งขันกันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งการเพิ่มมูลค่า  หรือ Value Product ให้กับตัวสินค้าและบริการอย่างเดียวคงไม่พอ จำเป็นจะต้องเพิ่ม Value Creation ลงไปด้วย


Value Creation หมายถึงอะไร
Value Creation หมายถึงการใส่ความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากทักษะ ประวัติศาสตร์ ประเพณี ผสมผสานกันออกมา เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบได้ ยกตัวอย่างเช่น ในอำเภอหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส ชื่อว่า แชมเปญมีความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบ ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่บนเส้นลองจิจูด และละติจูดที่ดวงอาทิตย์จะส่องแสงลงมายังภูเขา 3 ลูก จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวราคาที่ดินไม่เคยตก เพราะเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการปลูกองุ่นซึ่งเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตเหล้าแชมเปญและไวน์ที่ได้รสชาติดีที่สุดในโลก
ด้วยความรู้จากการศึกษากระบวนการหมัก เพื่อผลิตแชมเปญเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบมาผสมกับความรู้ ส่งผลทำให้เกิดแชมเปญ ที่กระบวนการผลิตแชมเปญจากสถานที่อื่นๆ ไม่สามารถมีรสชาติเทียบเท่าและไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เป็นต้น
เมื่อหลายสิบปีก่อนหลายประเทศได้นำระบบ Value Creation Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจที่ใช้กระบวนการสร้างสรรค์ใส่คุณค่าลงไปในสินค้าและบริการ ซึ่งจากการวัดผล ปรากฏว่ามีผลดีกว่าระบบเศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ
โดยตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นรูปแบบการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ (Mass Production) จนกระทั่งไต้หวัน และเกาหลีได้นำระบบดังกล่าวมาทำตาม จนทำให้เกิดการแข่งขัน และตัดราคากันเองในเวลาต่อมา
ดังนั้นผลจากกระบวนการผลิตสินค้าจำนวนมาก ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาดีขึ้น จะเห็นได้จากในปี 2547 ในสหรัฐฯ มีอัตราว่างงาน 6% ชนชั้นกลางรายได้ลดลง 8% อีกทั้งมีช่องว่างของรายได้ระหว่างผู้บริหารระดับสูง (CEO) 10 อันดับแรกห่างไกลจากคนสหรัฐฯ ทั่วไปถึง 1,000 เท่า
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน หลังจากทำการเปิดประเทศในปี 2536 ได้เข้าไปสร้างส่วนแบ่งในตลาดโลกอย่างมาก ระยะแรกสามารถสร้างกำไรในสินค้าได้ 4.5% แต่ขณะนี้ลดลงมาเหลือ 1.5% เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันและขายแข่งตัดราคากันเอง และสถานการณ์ขณะนี้ถ้าประเทศจีนผลิตสินค้าใดแล้ว คนอื่นก็ไม่สามารถผลิตแข่งขันได้อีก เพราะจีนมีค่าแรงที่ถูกอย่างไม่มีใครแข่งขันได้
มาถึงระบบเศรษฐกิจอิตาลี มีประชากร 50 ล้านคน ใกล้เคียงกับไทย แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือคนอิตาลี มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี 26,760 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีความเป็นอยู่ดีกว่าคนไทย 4 เท่า เพราะคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเพียง 7,450 ดอลลาร์สหรัฐฯ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนอิตาลีมีความเป็นอยู่ที่ดี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมบริการ เช่นเดียวกับฝรั่งเศส เพราะคนของอิตาลีมีทักษะบวกกับการสืบทอดความชำนาญ มีรากฐานความเป็นมาในการผลิตสินค้า
เช่นเดียวกับประเทศเดนมาร์ก มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี 31,210 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าประเทศไทย แต่เดนมาร์กมีประชากรเพียง 6 ล้านคนซึ่งใกล้เคียงกับลาว ถ้าลองเปรียบเทียบเดนมาร์กกับลาว พบว่าลาวที่มีรายได้ต่อคนต่อปีเพียง 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างกับเดนมาร์กลิบลับ
เมื่อมาสรุปทั้งหมดจะพบว่า ความเป็นอยู่ที่ดีของคนอิตาลีและคนเดนมาร์ก มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีกระบวนการสร้างราคาและคุณค่าของสินค้าและบริการ นั่นคือ value creation และแตกต่างจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่ยังเป็นระบบการผลิตจำนวนมาก


Value Creation แตกต่างจาก Value Added

Value Added หมายถึง มูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิต จนถึงการจำหน่าย โดยกระบวนการของ Value Added เป็นการนำเทคโนโลยีของคนอื่นมาเป็นการผลิตสินค้าเหมือนๆ กันกับของคนอื่นในที่สุดก็ขายตัดราคากัน เช่น ประเทศไทยนำเทคโนโลยีผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเข้ามา และผลิตขายเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ แต่คนที่ได้เงินมากกลับเป็นเจ้าของผู้ออกแบบดีไซน์ และเจ้าของเทคโนโลยี นั่นคือ ญี่ปุ่น ส่วนคนไทยได้เงินเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์
ความหมายของ Value Creation คือ การใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ หรือการนำจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น นำความถนัดในเรื่องต่างๆ ของคนไทยมาสร้างสรรค์ผลิตสินค้า และบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ถ้าทำได้ก็จะเกิดสินค้าและบริการที่ยากต่อการลอกเลียนแบบของคนอื่นๆ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติของเรา หรือสืบทอดภูมิปัญญากันมาในที่สุดจะทำให้เกิดสินค้าที่มีคุณค่า และสร้างราคาให้สูงได้ตามความต้องการไม่มีใครสามารถมาแข่งขันหรือตัดราคาได้
อีกหนึ่งตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
มีปลาชนิดหนึ่งในทะเลดำ ประเทศอิหร่าน ปลาชนิดนี้สีดำจึงทำเกิดงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาในประเทศอิหร่าน คือ งานวิจัยเรื่องไข่ปลาคาร์เวีย ที่ราคาแพงมากๆ ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร หรือในประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองโออิตะ ซึ่งประเทศไทยไปนำเอากระบวนการผลิตสินค้าภายใต้ โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Village One Product : OVOP ของเมืองนี้มาดัดแปลงเป็นโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป
โดยชาวบ้านในเมืองโออิตะมีวิธีสังเกตเห็นปลาชนิดหนึ่งที่ชอบว่ายทวนน้ำ ปรากฏว่าปลาชนิดนี้มีเนื้อเต่งตึงและรสชาติอร่อยมาก หลังจากนั้นก็เกิดวิธีการเลี้ยงปลาแบบใหม่ด้วยการให้อาหารล่อให้ปลาว่ายทวนน้ำ จึงได้เนื้อปลาที่อร่อยและขายในราคาแพงมากๆ นอกจากนั้นชาวบ้านดังกล่าวยังรู้วิธีเอาปลาไปขายในตลาดด้วยได้ใช้วิธีฝังเข็มก่อนเพื่อให้ปลานอนหลับขณะขนส่ง เพราะมีความรู้ว่า หากไปทำให้ปลาตกใจ และดิ้นไปดิ้นมา เนื้อปลาจะไม่อร่อยและเสียราคา ซึ่งวิธีดังกล่าวเรียกว่า Value Creation


สร้างคุณค่าใหม่ให้กับสินค้าไทย
สินค้าและบริการจากประเทศไทยเริ่มต้นมาจากการนำความคิดสร้างสรรค์แบบดั้งเดิม และพื้นฐานของทักษะที่อยู่บนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม มาผสมกับความรู้การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปเพิ่มการแข่งขันการเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้โดดเด่นยิ่งขึ้น เช่น นวดแผนไทย ซึ่งเป็นสินค้าบริการที่ประเทศไทยมีทักษะฝีมือที่ชำนาญ และถ่ายทอดกันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อนำเข้ามาใส่ในธุรกิจสปา ได้ช่วยสร้างคุณค่าให้กับนวดแผนไทยมากขึ้น มีราคาสูงขึ้น และถือเป็น Value Creation
สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการของไทยควรจะทำเพิ่มขึ้น คือ การนำเอากระบวนการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ต่อไปต้องมีการคิดค้นน้ำมันนวดที่เป็นกลิ่นพิเศษเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน ที่ผ่านกระบวนการวิจัยมาแล้วว่าเป็นกลิ่นที่เหมาะสมกับลูกค้าคนนั้นมากที่สุด เพียงเท่านี้ก็จะดึงเงินจำนวนมากจากกระเป๋าเศรษฐีทั้งหลายได้ หรือผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ The Ocean Glass เดิมใช้วิธีผลิตแก้วน้ำจำนวนมากๆ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ ด้วยการใช้วิธีใส่ดีไซน์ลงไป ทำให้ขายได้ราคาแพงขึ้น
ยกตัวอย่างที่เป็น Value Creation ของคนไทยที่ชาติอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ คือ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง องค์บากที่นำศิลปะการต่อสู้มวยไทยมาผสมผสานกับความเป็นคนภาคอีสานที่มีอารมณ์ขัน ซึ่งประสบความสำเร็จมากในประเทศไทย ปรากฏว่ามีผู้กำกับหนังชาวฝรั่งเศส ชื่อ ลุค เบซงได้นำ องค์บากไปตัดต่อใหม่เป็นเวอร์ชั่นฝรั่งเศส เพื่อให้ตรงกับรสนิยมของคนฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการสร้าง value creation on top of value creation
จากนั้นก็ได้นำภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐฯ จนได้รับการตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ นั้นเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ถึง 387 แห่ง ส่วนในฝรั่งเศสได้เรตติ้งระดับ 7.2 จนกระทั่งมีผู้สร้างภาพยนตร์ในฝรั่งเศสหัวใสได้สร้างภาพยนตร์ใหม่ขึ้นมา เพื่อเลียนแบบ “องค์บาก” โดยใช้ชื่อว่า “BANLIEUE 13” มีการทำภาพโปสเตอร์ และใบปิดหนังเลียนแบบ องค์บาก
แต่ปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกลับไม่ประสบความสำเร็จ และได้เรตติ้งแค่ระดับ 5.5 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การเลียนแบบวัฒนธรรมของไทยเป็นไปไม่ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

7 นิสัยที่ทำให้คุณ..กลายเป็นเศรษฐีอย่างรวดเร็ว By BNN

ทำไม คนที่เอาใจยากที่สุด ต้องเป็น คนจน

ไม่อยากรวย อย่าเปิดอ่าน สถาบันสร้างวัยรุ่นหัวการค้า